การดำเนินงาน และขอบเขตงาน  ผมขอ แบ่งเป็น 4 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนและห้องสมุดที่ทันสมัย เนื่องจากในอดีตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และค่าบริการเครือข่ายมีราคาสูง แต่ปัจจุบันนี้แหล่งเรียนรู้กระจายตัวออกไปค่อนข้างทั่วถึงประกอบกับเทคโนโลยีมีราคาถูกลง จึงกล่าวได้ว่าประเด็นปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงเทคโนโลยีของไทยได้คลี่คลายลงแล้วเป็นลำดับ

ระยะที่สอง การให้ความรู้ด้านวิธีใช้งานเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เบื้องต้น เช่น การสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการทำงาน การใช้แผนที่นำทาง การสื่อสารด้วยอีเมลและโซเชียลมีเดีย ฯลฯ เยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นชนรุ่นดิจิทัล (digital native) ต่างก็คุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลพื้นฐานเหล่านี้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์จากสถาบันการศึกษา ส่วนคนรุ่นก่อนยุคมิลเลนเนียมซึ่งเป็นผู้อพยพทางดิจิทัล (digital immigrant) จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตนเองหรือผ่านระบบการศึกษาตามอัธยาศัยและนอกระบบโรงเรียน

ระยะที่สาม การสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในทางที่สร้างสรรค์ แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยกระดับการทำงานหรือคุณภาพชีวิต อาทิ การซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต การออกแบบงานศิลป์ด้วยคอมพิวเตอร์ การตลาดออนไลน์ ฯลฯ ผู้ใช้งานเทคโนโลยีที่มีทักษะในเชิงประยุกต์หรือ “smart user” คือกลไกสำคัญของการเพิ่มมูลค่าในการผลิต ซึ่งเป็นหลักการของเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลวางเป้าหมายว่าจะให้เกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ระยะที่สี่ การสร้างนักพัฒนา (developer) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการเขียนโปรแกรมสำหรับสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในหลายประเทศได้ส่งเสริมทักษะการเขียนคำสั่ง (coding) และโปรแกรมมิ่งให้กับเยาวชนตั้งแต่ยังเล็ก เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ในฐานะผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจาก “ผู้บริโภคเทคโนโลยี” ไปสู่ “ผู้ผลิตเทคโนโลยี” ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย การสร้างทักษะดังกล่าวนี้เริ่มได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดแนวทางที่ชัดเจนในการบรรจุไว้ในกิจกรรมการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          การส่งเสริมทักษะดิจิทัลทั้ง 4 ระยะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแบบเรียงตามลำดับ หากแต่การส่งเสริมให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงเทคโนโลยีและมีทักษะการใช้งานที่คล่องแคล่วและสร้างสรรค์ จะเป็นบันไดไปสู่การสร้างนักพัฒนาด้านไอทีได้ง่ายขึ้น